Thursday, September 23, 2010

วัดวังตะวันตก

ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พิกัดแผนที่
เส้น รุ้ง ๘ องศา ๒๖ ลิปดา ๑๙ ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวง ๙๙ องศา ๕๗ ลิปดา ๕๐ ฟิลิปดาตะวันออก
Google Maphttps://goo.gl/maps/WDDBexxuPczKCiEK6
ประวัติความเป็นมา
สถานที่ ตั้งวัดวังตะวันตกแต่เดิมเป็นป่าขี้แรดใช้เป็นที่ค้างศพของคนในเมืองซึ่งนำ ออกมาทางประตูผี ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมือง แล้วนำล่องเรือมาตามคลองท้ายวังเขาคลองทา แล้วเอาศพไว้ในที่ที่เป็นป่าขี้แรด ต่อมากลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเพราะประเพณีการค้างศพได้เลิกนิยมไป ที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นบ้านตากแดด คือปล่อยทิ้งไว้ให้แดดเผา เพื่อล้างสถานที่ที่เคยค้างศพและไม่มีผู้คนกล้าเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมาเจ้าจอมปราง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แม่นางเมืองหรือแม่วัง เห็นเป็นที่ว่างและอยู่ใกล้กับวังของท่านเพียงคนละฟาก จึงเกิดความคิดที่จะดัดแปลงที่ว่างนั้นให้เป็นอุทยาน เพื่อเป็นที่พักผ่อนของเจ้าพระยานคร (น้อย) บุตรชาย ประกอบกับเจ้าพระยานคร (พัด) ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ดัดแปลงป่าขี้แรดให้เป็นอุทยาน ต่อมาถึงสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต้องรับภาระจัดการพระศพเจ้าจอมมารดาปราง ได้เลือกเอาอุทยานแห่งนี้เป็นที่ฌาปนกิจศพ และได้ปรับปรุงวังตะวันออกให้เป็นวัดวังตะวันออกพร้อม ๆ กันนี้ได้แปรสภาพอุทยานแห่งนี้ให้เป็นวัดอีกวัดหนึ่ง เรียกว่า " วัดวังตะวันตก "

เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๘๐ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างพระพุทธรูปสูงใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งไว้ทางทิศใต้ของบริเวณวัด โดยสร้างไว้บนเนินดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน ถวายชื่อว่า "พระศรีธรรมโศกราช" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "พระสูง" เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ประชาชนได้ร่วมกันสร้างวิหารคลุมไว้

ภายในวัดวังตะวันตกมีกุฏิทรงไทยหลังหนึ่งมีลักษณะเป็นหมู่ เรือนไทยสร้างด้วยไม้ เป็นเรือนฝากระดานแบบเรือนสร้างสับ ๓ หลัง หลังคาหน้าจั่วหันไปทางทิศตะวันออกทั้งหมด ตัวเรือนเป็นกุฏิไม้ฝาประกน มีลวดลายแกะสลักไม้ ตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ เป็นรูปบุคคลมีปีกประกอบลายพรรณพฤกษา ลายหัวบุคคลมีลำตัวเป็นก้านต้นไม้ กรอบหน้าต่างด้านล่างสลักเป็นลายเครือเถาและลายเรขาคณิต เรือนหลังกลางเป็นห้องโถงโล่ง และเรือนอีก ๒ หลัง เป็นปีกยกพื้นสูงทั้ง ๒ ข้าง มีฐานที่มีหลังคาคลุมต่อเชื่อมกัน หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบ ด้านทิศตะวันตกเป็นเรือนครัว ซึ่งได้ย้ายมาประชิดกุฏิภายหลัง ใต้กุฏิยกพื้นสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีปัจจุบันมีชานเรือนทำด้วยปูนซิ เมนต์ เชื่อมหมู่กุฏิและเรือนครัวเข้าด้วยกัน
มีจารึกสลักบนไม้เหนือบนประตูหลังกลางทางด้านตะวันออก กล่าวถึงการสร้างกุฏิหลังนี้ว่า "...กุฏิสามหลังข้างครัวข้างโน้น ข้าพเจ้าอาจารย์ย่อง พร้อมด้วยญาติบรรณาแลสานุศิษย์ ได้เตรียมการจัดหาเครื่องเสาตั้งแต่ปีมเมียจัตวาศก มาได้ยกขึ้นเมื่อ ณ วัน ๒ฯ๔ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก พุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๔๓๑ พรรษา ก็ทำต่อมาก็ทั่ง ณ วัน ๓ฯ๕ ค่ำปีมแมสัปตศก เป็นวันฉลอง ๑๓ ปีแล้วเสร็จ ก็ทำครั้งนี้เพื่อจะเปลื้องธุระสงฆ์ที่กังวนด้วยฟากฝา แลจะได้อยู่อาไสยเอาเรียนพระธรรม์บำรุงพุทธศาสนาให้จิรัง ท่านผู้อ่านผู้ฟังจงอนุโมทนารับส่วนบุญด้วยเทอญฯ..." นั่นมายถึงว่าอาคารหลังนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ใช้เวลาสร้าง ๑๓ ปี เพื่อให้พระสงฆ์ได้อาศัยเรียนพระธรรมบำรุงพุทธศาสนา ผู้สร้างคือ พระครูกาชาด(ย่อง) ร่วมกับบรรดาญาติโยม สานุศิษย์
ความเป็นมา (๒)
จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่สืบต่อกันมาว่า เดิมเป็นที่วัดของพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ในสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงจะย้ายวังจากที่ตั้งเดิมไปหรือหมดวงศ์ของพระยาศรีธรรมมาโศกราช จึงปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า โดยเป็นทรัพย์สินของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ได้มีพระภิกษุสงฆ์เดินธุดงค์มาปักกลดอาศัยพักเป็นครั้งคราว ทายาทของพระยานคร (น้อย) จึงยกถวายให้เป็นที่วัด เพื่อให้พระภิกษุมาอาศัยอยู่เป็นประจำ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) พระครูกาชาด (ย่อง อินทสุวณฺโณ) ได้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา สร้างอุโบสถ ก่อด้วยอิฐ ถือปูนขาว สร้างศาลาการเปรียญ กุฏิทรงไทย และหอพระไตรปิฏก จึงเป็นวัดที่สมบูรณ์
วัดวัง ตะวันตก มีเนื้อที่วัดทั้งหมด ไม่รวมธรณีสงฆ์ จำนวน ๑๑ ไร่ ๒ งาน ๔๑ ตารางวา
โบราณสถานและโบราณวัตถุของวัดวังตะวันตก
ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางสดุ้งมาร ก่อด้วยอิฐ ถือปูนขาว หน้าตักกว้าง ๑ วา เศษ สูง ๒ วาเศษ ประดิษฐานอยู่บนอาสน์ดินสูง ๒ วาเศษ ชาวบ้านเรียกว่า พระศรีธรรมาโศก หรือ "พระสูง"
สิ่งก่อสร้างภายในวัด ประกอบด้วย
๑. อุโบสถตามแบบ กรมการศาสนา ขนาด ๘.๕๐ X ๒๓ เมตร คอนกรีตเสริมเหล็ก
๒. ศาลาการเปรียญ ทรงไทยประยุกต์ ขนาด ๑๐ X ๒๐ เมตร คอนกรีตเสริมเหล็ก
๓. หอพระไตรปิฏก ขนาด ๑๒ X ๑๒ เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูนขาว ๒ ชั้น
๔. หอรูปพระครูกาชาด ขนาด ๓.๗๐ X ๓.๒๐ เมตร คอนกรีตเสริมเหล็ก
๕. กุฏิเจ้าอาวาส ทรงไทยประยุกต์ ขนาด ๒๐.๕ X ๒๒.๒๕ เมตร คอนกรีตเสริมเหล็ก
๖. หอฉัน ตึกครึ่งไม้ ๒ ชั้น ทรงปั้นหยา ขนาด ๑๓.๗๕ X ๒๘ เมตร
๗. กำแพงวัด คอนกรีตเสริมเหล็ก สูง ๑.๗๐ เมตร
- ด้านทิศตะวันออกยาว ๑๐๕ เมตร
- ด้านทิศใต้ ยาว ๗๒ เมตร
๘. กุฏิทรงไทย ๑๐๐ ปี ขนาด ๙.๘๕ X ๑๔ เมตร

กุฏิทรงไทยเป็นอาคารเรือนไทยหลังงามระดับหนึ่งในภาคใต้ หรืออาจติดอันดับต้นของประเทศก็ว่าได้ ลักษณะเป็นหมู่เรือนไทยสร้างด้วยไม้ เป็นเรือฝากระดานแบบเรือนสร้างสับ ๓ หลัง หลังคาหน้าจั่วหันไปทางทิศตะวันออกทั้งหมด เรือนหลังกลางเป็นห้องโถงโล่งและเรือนอีก ๒ หลัง เป็นปีกยกพื้นสูงทั้ง ๒ ข้าง มีฐานที่มีหลังคาคลุมต่อเชื่อมกัน หลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบ ด้านทิศตะวันตกเป็นเรือนครัว ซึ่งได้ย้ายมาประชิดกุฏิภายหลัง ปัจจุบันมีชานเรือนทำด้วยปูนซิเมนต์เชื่อมหมู่กุฏิและเรือนครัวเข้าด้วย กัน ตัวเรือนกุฏิไม้เป็นแบบเรือฝาประกน มีลวดลายแกะสลักไม้ ตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ เป็นรูปบุคคล มีปีกประกอบลายพรรณพฤกษา ลายหัวบุคคลมีลำตัวเป็นก้านต้นไม้ กรอบหน้าต่างด้านล่างสลักเป็นลายเครือเถาและลายเรขาคณิต ใต้กุฏิยกพื้นสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี
ประวัติการ อนุรักษ์
๒๕๓๓ คณะกรรมการดำเนินการบูรณะกุฏิทรงไทยมีมติเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๓ ให้ย้ายกุฏิไปตั้งไว้ทางด้านทิศเหนือของวัด
๒๕๓๔ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิทรงไทยทั้งหลังเป็นเงินงบประมาณ ๑,๒๒๔,๔๗๕ บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินงบประมาณของกรมศิลปากร ๘๐๐,๐๐๐ บาท และเงินบริจาคของจังหวัดนครศรีธรรมราช ๔๒๔,๔๗๕ บาท บริษัทศิวกรการช่างเป็นผู้ดำเนินการ
๒๕๓๖ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานคณะกรรมาธิการ อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ มีมติให้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖
๒๕๕๒ สำนักศิลปากรที่ ๑๔ เสนอของบประมาณสำหรับการบูรณะ งบประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ลำดับเจ้าอาวาส ครองวัดวังตะวันตก ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ รวมทั้งหลักฐานที่เป็นภาพวาดและภาพถ่ายในงานทำบุญประจำปีอดีตเจ้าอาวาส
มี ดังนี้


















๑. พระครูกาชาด (ย่อง อินฺทสุวณฺโณ) *


















๒. พระปลัดเจียม รตโน *

















๓, พ่อท่านรอด *

















๔. พระมหาสะอาด สุวรรณนพรัตน์*

















๕. พระครูประโชติศาสนกิจ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕

















๖. พระเทพสิริโสภณ พ.ศ.๒๕๒๖ ถึง พ.ศ. ๒๕๖๐












๗. พระครูพรหมเขตคณารักษ์ พ.ศ.๒๕๖๐
**** ปรับปรุงข้อมูลวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ****
( * ลำดับก่อนหลังไม่มีหลักฐานยืนยัน )

++++++++++++++++++

Friday, September 10, 2010

อุโบสถของวัดวังตะวันตก

อุโบสถของวัดวังตะวันตก มีความสำคัญตรงที่ความเป็นมา
เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟมายังวัดวังตะวันตกนครศรีธรรมราฃ เพื่อทรงยกช่อฟ้าของพระอุโบสถหลังนี้
 









โดยการนี้ทั้งสองพระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย











ซึ่งต่อมาได้นำมาประดิษฐานอยู่บนผนังของพระอุโบสถ เป็นที่ปรากฎมาจนถึงปัจจุบันนี้


จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปเวียนเทียน วันวิสาขบูชาในปีนั้น ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ยังความปลาบปลิ้มหาที่สุดมิได้แก่พุทธศาสนิกชน และพสกนิกรทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยทั่วไป


นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายประวัติศาสตร์การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น
ปรากฎอยู่ตรงผนังทั้งด้านทิศเหนือ และทิศใต้ภายในพระอุโบสถ


( ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้เขต ๒ ขอย้อนรอยพระบาท ดังนี้ ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๓ – ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรกโดยเสด็จฯ ทางรถยนต์เข้าสู่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่อำเภอทุ่งสง เสด็จเยี่ยมราษฎรรวม ๔ อำเภอ คือ อำเภอทุ่งสง อำเภอเมือง อำเภอพรหมคีรี อำเภอร่อนพิบูลย์ ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๗ เสด็จฯ โดยทางรถไฟ มายังวัดวังตะวันตก เพื่อทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ วัดวังตะวันตก เสด็จฯ เวียนเทียนเนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และเสด็จเยี่ยมสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช)

**********